" พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร "
"พระร่วงโรจนฤทธิ์" พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดนครปฐม เป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป มีชื่อเต็ม คือ "พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร" ตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 12 ตุลาคม พุทธศักราช 2466
แต่ประชาชนทั่วไป เรียกขานว่า "หลวงพ่อพระร่วง" หรือ "พระร่วงโรจนฤทธิ์"
ประวัติพระร่วงโรจนฤทธิ์
เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ทำด้วยทองเหลืองหนัก 100 หาบ ศิลปะสุโขทัย สูง 12 ศอก 4 นิ้ว ประทับยืนบนฐานโลหะทองเหลืองลายบัวคว่ำบัวหงาย ทำวงพระพักตร์ตามยาว พระหนุเสี้ยม นิ้วพระหัตถ์ พระบาทไม่เสมอกัน ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้น ยื่นไปข้างหน้า มีพระอุทรพลุ้ย บ่ายพระพักตร์สู่ทิศเหนือ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช เสด็จฯ ประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ ในปีพ.ศ.2451 ได้ทอดพระเนตรพระพุทธรูปโบราณเป็นอันมาก แต่มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่เมืองศรีสัชนาลัย (สุโขทัย) กอปรด้วยพระลักษณะงามเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย แต่ชำรุดมาก เหลืออยู่แต่พระเศียร พระหัตถ์และพระบาท
จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญลงมากรุงเทพฯ แล้วให้ช่างปั้นสถาปนาขึ้นมาบริบูรณ์เต็มพระองค์ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีเททองหล่อ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2456 ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ โดยมีผู้ออกแบบ คือกรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ (พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร)
จากนั้นได้อัญเชิญมาสู่จังหวัดนครปฐม เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2457 ทางรถไฟ ประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศเหนือ องค์พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จนถึงปัจจุบัน
เมื่อครั้งอัญเชิญพระร่วงโรจนฤทธิ์ มาประดิษฐานยังองค์พระปฐมเจดีย์ฯ จำเป็นต้องแยกชิ้นมาประกอบเข้าด้วยกันที่จังหวัดนครปฐม เสร็จเป็นองค์สมบูรณ์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2458
หลังจากรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต ตามความในพระราชพินัยกรรมของพระองค์ระบุว่า ให้บรรจุพระอังคารของพระองค์ไว้ใต้ฐานพระร่วงฯ ที่องค์พระปฐมเจดีย์ ในวันที่ 31 สิงหาคม 2469 จึงได้ทำพิธีบรรจุพระบรมราชสรีรังคาร ณ ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ตามพระราชประสงค์
มีความเชื่อว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ โปรดหรือชอบลูกปืน โดยต้องแก้บนด้วยการยิงปืน แต่ต่อมาเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงใช้จุดประทัดแทน และอีกอย่างที่เป็นของโปรด (ตามความเชื่อของชาวบ้าน) คือ ไข่ต้ม และไม่ใช่ไข่ต้มธรรมดาต้มสุกแล้วต้องชุบสีแดงที่เปลือกไข่หลังต้มแล้ว ก่อนนำมาแก้บน
ในการบนบานขอพรหรือขอความสำเร็จต่างๆ จากองค์พระร่วงโรจนฤทธิ์ ชาวบ้านทั้งชาวไทยชาวจีนในนครปฐมเป็นที่ทราบกันทั่วไปที่ผ่านมาเคยเห็นมีผู้มาแก้บนด้วยไข่ต้มนับร้อยนับพันใบก็มี
คำกล่าวบูชาพระร่วงโรจนฤทธิ์ที่แปลแล้วมีว่า "พระพุทธรูปพระองค์ใด ซึ่งมีอภินิหารไม่น้อย มีพระพุทธลักษณะอันงดงามผุดผ่อง พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงถวายพระนามว่า "พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราช ปูชนียบพิตร" เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติ แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประดิษฐานมาอยู่ ณ วิหารมณฑลด้านทิศเหนือ แห่งองค์พระปฐมเจดีย์ ควบเวลาถึงกว่า 92 ปี (ปัจจุบัน) ได้แผ่พระบารมีปกเกล้าไปยังพุทธศาสนิกชนทั่วทุกทิศ ปานประหนึ่งว่า พระพุทธองค์ ทรงสถิตประทับยืนอยู่ ณ นิโรธาราม ริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี ใกล้เมืองกบิลพัสดุ์ ทรงโปรดพระประยุรญาติทั้งสองฝ่าย ให้คลายจาก มานะทิฐิอยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข"
"ข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าวันทาพระร่วงโรจนฤทธิ์พระองค์นี้ ซึ่งเป็นที่นำบุญมาให้แก่ข้าพระพุทธเจ้า ผู้นมัสการอยู่ แม้พระปฐมเจดีย์ใหญ่ใด ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่ประดิษฐานองค์พระร่วงโรจนฤทธิ์ ซึ่งมีปาฏิหาริย์ไม่น้อย งดงามดุจพระจันทร์ในยามราตรี ข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าวันทาพระปฐมเจดีย์นี้ ซึ่งเป็นที่นำบุญมาให้แก่ผู้ทัศนาอยู่เสมอ ข้าพระพุทธเจ้าขอนมัสการพระร่วงโรจนฤทธิ์ พระบรมสารีริกธาตุ และองค์พระปฐมเจดีย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งควรนมัสการอยู่โดยส่วนเดียว ด้วยเครื่องสักการะคือดอกไม้ไฟอันตั้งอยู่ ณ ทิศทั้งสี่ ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ ได้แล้วซึ่งบุญอันใด ด้วย อานุภาพแห่งบุญนั้น ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุข เป็นผู้ไม่มีเวร ปราศจากอันตราย เจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมเป็นนิตย์เทอญ"
สำหรับวัดพระปฐมเจดีย์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร ซึ่งอาณาจักรที่ตั้งสองสิ่งสำคัญอยู่ คือ องค์พระปฐมเจดีย์ และพระร่วงโรจนฤทธิ์ วัดพระปฐมเจดีย์ตั้งอยู่ในตำบลพระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 56 กิโลเมตร เป็นปูชนียสถานเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในไทย
ทั้งนี้ องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า มีลักษณะโครงสร้างเป็นพระเจดีย์ใหญ่รูประฆังคว่ำปากผายมหึมา โครงสร้างชั้นในเป็นไม้ซุงรัดด้วยโซ่เส้นมหึมา ก่ออิฐถือปูนประดับด้วยกระเบื้องปูทับประกอบด้วยวิหาร 4 ทิศ กำแพงแก้ว 2 ชั้น
พระปฐมเจดีย์สูงจากพื้นดินถึงยอดมงกุฏ 120.45 เมตร ฐานโดยรอบวัดได้ 235.50 เมตร
เส้นผ่าศูนย์กลาง 56.65 เมตร จากปากระฆังถึงสี่เหลี่ยมสูง 18.30 เมตร สี่เหลี่ยมด้านละ 28.10 เมตร ปล้องไฉน 27 ปล้อง เสาหาร 16 ต้น คตพระระเบียงรอบกำแพงแก้วชั้น 562 เมตร กำแพงแก้วชั้นในโดยรอบ 912 เมตร ซุ้มมีระฆังบนลานองค์พระปฐมเจดีย์ 24 ซุ้ม
ส่วนงานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ จัดขึ้นเป็นประจำ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนชั่วไปในจังหวัดนครปฐมและทั่วราชอาณาจักร ได้ร่วมกันบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และร่วมกันบริจาคทรัพย์บำรุงรักษาองค์พระปฐมเจดีย์ให้มั่นคงสืบเป็นประเพณี
ที่มา...