ประวัติและความสำคัญของวัดบ้านเหล่าพระเจ้าตาเขียว
วัดบ้านเหล่าพระเจ้าตาเขียว ตั้งอยู่เลขที่ 102 หมู่ที่ ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดนี้มีตำนานบอกเล่าประวัติของวัดว่าเป็นที่บรรจุพระเกศาของสมเด็จพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า และภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งเดิมมีชื่อเรียกองค์พระพุทธรูปหลายชื่อ ต่อมารองเลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มีหนังสือลงวันที่ 25 เมษษยน 2537 ขอพระราชทานนามพระพุทธรูป ซึ่งราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง มีหนังสือลงวันที่ 29 มกราคม 2538 แจ้งมาว่า “มีพระราชกระแสว่านาม “พระเจ้าตาเขียว” เป็นนามที่ประชาชนนิยมมากกว่า ” จึงเห็นควรให้ใช้เป็นชื่อของพระประธานประจำวัดบ้านเหล่า ประวัติพระเกศาธาตุและการสร้างพระเจ้าตาเขียว นานความเชื่อเกี่ยวกับประวัติของวัดบ้านเหล่าพระเจ้าตาเขียวและพระพุทธรูป ที่ได้มีผู้จัดพิมพ์ถวายวัดเล่าถึงตำนานประวัติพระเกศาธาตุและการสร้างพระเจ้าตาเขียวในหลายยุคสมัย ดังนี้ สมัยพุทธกาล สมัยเมื่อครั้งองค์สมเด็จพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ได้ทรงจาริกไปยังถิ่นต่าง ๆ เพื่อประกาศเทศนาธรรม สั่งสอนเวไนยสัตว์ ในการเสด็จจาริกครั้งนั้นพระอินทร์และเหล่าเทพยดาได้ตามเสด็จมาด้วย หลังจากเสด็จยังดอยจอมทองและดอยน้อย (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่) แล้วได้เสด็จมายังถิ่นอาศัยทำมาหากินในทางทำไร่ของชนชาวลัวะ ได้ทรงพยากรณ์ว่าต่อไปในภายภาคหน้าถิ่นนี้จะเป็นนครใหม่รุ่งเรืองทางพุทธศาสนา มีนามว่าหริภุญชัยนคร ณ บริเวณที่ทรงประทับพัก ในขณะนั้นมีชาวลัวะผู้หนึ่งชื่อเม็งคะบุตร ซึ่งกำลังสาละวนอยู่กับการทำไร่ เหลือบไปเห็นพระพุทธองค์เสด็จมา ก็เกิดความเกรงกลัว จึงลุกขึ้นวิ่งหนีไป แต่เมื่อลัวะ เม็งคะบุตร ทราบว่านี่คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงเสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ เม็งคะบุตร จึงกลับไปยังที่เดิม เมื่อเม็งคะบุตรกลับไปแล้ว ประชาชนในแถบใกล้เคียงได้ทราบข่าวการเสด็จมาของพระพุทธองค์จึงชวนกันมาฟังสัทธรรม เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมฟอกจิตใจของเม็งคะบุตรและประชาชนที่มาฟังในที่นั้นตามสมควรแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงอานิสงส์ของการก่อสร้างพระพุทธรูปให้ฟังอีก จนทุกคนในที่นั้นเกิดความเลื่อมใส ครั้นเมื่อพระพุทธองค์แสดงอานิสงส์จบลง พระอินทร์ซึ่งเป็นประธานในที่นั้น จึงกราบบังคมทูลขอพุทธเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อประดิษฐานไว้ ณ ที่ตรงนั้นเพื่อให้เป็นที่เคารพสักการะของอนุชนรุ่นหลังต่อไปในภายภาคหน้า ในเมื่อพระอินทร์มีความประสงค์เช่นนั้น พระพุทธองค์ก็มิทรงขัดพระหฤทัย จึงทรงประทานพระเกศาธาตุในแก่พระอินทร์ อนึ่ง พื้นที่บริเวณวัดบ้านเหล่าเป็นที่ราบไม่มีถ้ำเหว หรือเงื่อมผา สำหรับบรรจุพระเกศาเพื่อกันขโมยหรือผู้ร้ายจะมาทำลายหากแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพุทธญานว่า ภายหน้าจักมีพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานครอบพระพุทธเกศาธาตุของพระองค์ไว้ และมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นที่พึ่งของสมณะ เทพยดา และมนุษย์สืบต่อไป จากนั้นพุทธองค์พร้อมด้วยเหล่าเทพยดาทั้งหลาย ก็เสด็จจาริกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัดบ้านเหล่า ไปยังวัดพระยืน ต.เวียงยอง อ.เมืองลำพูน ต่อไป หลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปแล้ว พระอินทราธิราชพร้อมบริวารส่วนหนึ่งได้ร่วมกับเม็งคะบุตรและคหบดีเศรษฐีที่อาศัยอยู่ถิ่นนั้น ได้พากันขุดอุโมงค์และก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ต่อมาจึงนำพระพุทธเกศาใส่ในผอบแก้ว ช้อนทองคำ นาค เงิน และใส่ลงในโกฏิเงินอีกคราบรรจุลงในอุโมงค์ที่วางปูด้วยศิลาเงิน นาค และทองคำทั้งสามทิศ ในเวลาเดียวกันนั้นคหบดีและประชาชนแถบนั้นก็ได้นำเอาของมีค่าต่างๆ นำมาบรรจุลงในอุโมงค์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาด้วย เสร็จแล้วก็ช่วยกันปิดปากอุโมงค์ด้วยแผ่นทองคำ นาค เงิน และท้ายสุดคือศิลา เพื่อกันมิให้ผู้ร้ายทำลายและลักขโมย ต่อมาพญานาค มาพบเห็นอุโมงค์บรรจุพระพุทธเกศา และเกรงว่าจะถูกทำร้ายให้ได้รับอันตราย จึงลงไปยังชั้นบาดาลแล้วนำศิลาหินอันใหญ่มาปิดปากอุโมงค์ไว้อีกชั้นหนึ่ง สมัยพระเจ้าแม่จามเทวี ตำนานฉบับเดียวกันได้กล่าวว่า ครั้นลุถึงปี พ.ศ. 1235 อันเป็นอาณาจักรหริภุญชัยนคร มีความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนามาก ผู้คนล้วนอยู่ในศีลธรรม จัดเป็นพุทธนครที่มีความร่มเย็น ในครั้งนั้นผู้มีศีล มีธรรม รู้ศีล รู้ธรรม ชื่อว่า ขันตะคะ ได้ทราบว่ามีพระพุทธเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็รู้สึกมีความยินดียิ่ง จึงปรึกษากับญาติพี่น้องช่วยกันขุดพระพุทธเกศาธาตุขึ้นมา แล้วขุดถ้ำใหม่ปรับปรุงหน้าดินให้เรียบร้อยสวยงาม แล้วนำน้ำอบน้ำหอมสุคันธาต่างๆ มาพรมถ้ำใหม่นั้น แล้วอันเชิญพระแม่จามเทวี ปฐมกษัตริยแห่งหริภุญชัยนคร พร้อมทั้งเจ้ามหันตยศและพระเจ้าอนันตยศ ราชโอรส เป็นประธานโดยพระเจ้าแม่จามเทวีทรงโปรดให้เจ้ามหันตยศราชโอรสองค์แรก (ผู้ครองนครหริภุญชัยสืบต่อพระองค์) เป็นผู้อันเชิญพระพุทธเกศาธาตุลงในถ้ำที่สร้างไว้ และทรงให้เจ้าอนันตยศ(ผู้สร้างเขลางค์นคร) เป็นผู้อันเชิญเครื่องบูชา อันมี แก้ว แหวน เงิน ทอง ดอกเงิน ดอกคำ รูป ช้าง ม้า วัว ควาย (เป็นทองคำ) ขนาดเท่ากำปั้น ถาดเงิน ถาดคำ ทั้งหมดจำนวนหนึ่งลำล้อ เมื่อทุกอย่างสำเร็จลุล่วงไปแล้ว พระแม่เจ้าจามเทวี พระเจ้ามหันตยศ และพระเจ้าอนันตยศ มีความคิดเห็นตรงกันว่าสมควรที่จะสร้างพระพุทธรูปไว้ที่ปากถ้ำ 1 องค์ เพื่อเป็นเครื่องหมายและเพื่อให้ผู้คนสมัยนั้นได้กราบไหว้บูชาเพื่อเป็นสิริมงคล และสืบอายุพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสืบไปขันตะคะ เมื่อรู้ความประสงค์ของพระแม่เจ้าจามเทวีและพระโอรสทั้งสองแล้ว ก็ปีติยินดีและเห็นด้วยที่จะสร้างพระพุทธรูป จึงชวนชาวบ้านในถิ่นนั้นมาร่วมกันดำเนินการก่อสร้างพระพุทธรูป โดยมีพระแม่เจ้าจามเทวี พระเจ้ามหันตยศ และพระเจ้าอนันตยศ เป็นประธานก่อสร้างและบริจาคก้อนอิฐ (ดินกี่) สำหรับสร้างพระพุทธรูปและทองปิดองค์พระเป็นจำนวนมากพระเจ้ามหันตยศทรงเป็นผู้ดูแลการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง และมีชาวบ้านมาช่วยกันสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางนั่งขัดสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 13 ศอก สูง 18 ศอก โดยสร้างครอบอุโมงค์ที่บรรจุพระเกศาธาตุ (อุโมงค์ดังกล่าวอยู่ใต้พื้นพระพุทธรูปปัจจุบันนี้) เมื่อทำการก่อสร้างพระพุทธรูปจนถึงพระศอ ตอนแรกผู้ร่วมก่อสร้างก็มีความคิดเห็นเหมือนกัน แต่เมื่อถึงส่วนพระพักตร์ของพระพุทธรูป ต่างมีความเห็นต่างกันออกไปว่าจะเอาแบบใด รูปใด ต่างไม่มีความลงรอยกัน และยังไม่มีช่างผู้ใดที่จะมาทำพระพักตร์ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ทำได้ยากพอสมควร ความเห็นอันแตกต่างนี้ได้เข้าไปในวิถีญาณของพระอินทร์ ที่ประทับอยู่ในแดนทิพย์แดนธรรม พระอินทร์ทรงเห็นว่าคงไม่ดีแน่ จึงอธิษฐานจิตลงมายังโลกมนุษย์ โดยแปลงร่างเป็น “ชีปะขาว” เดินเข้าไปหากลุ่มคนเหล่านั้น ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีใครทราบชีปะขาวนี้มาจากไหนเมื่อมาถึงสถานที่ก่อสร้างพระพุทธรูป ชีปะขาวจึงอาสาทำพระพักตร์ของพระพุทธรูปองค์นี้ให้ เมื่อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ชีปะขาวคนนั้นจึงได้ลงมือทำพระพักตร์เอง เมื่อทำพระพักตร์เสร็จ ปรากฏเป็นพระพุทธรูปที่มีพระพักตร์ที่สวยงาม แต่ยังขาดแก้วในพระเนตรที่จะบรรจุเป็นพระเนตรของพระพุทธรูปที่สร้างใหม่ ชีปะขาวที่รับอาสาทำพระพักตร์จึงรับอาสาที่จะหาแก้วมาใส่บรรจุไว้ในพระเนตร ในวันรุ่งขึ้นชีปะขาวก็ได้นำแก้วมรกตสีเขียวทึบ(เป็นแก้วมรกตมณีนิลจากแดนทิพย์ของพระอินทร์) จำนวน 2 ลูกมาบรรจุเป็นนัยตาของพระเนตรของพระพุทธรูปองค์นั้น เมื่อบรรจุลงไปแล้วดูสดสวยยิ่งนัก สร้างความฉงนสนเทห์แก่บรรดาผู้คนที่ได้พบเห็นเป็นอันมาก และสร้างอุโมงค์ครอบองค์พระพุทธรูปอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ ประชาชนในแถบนั้น จึงได้ขนานพระนามพระพุทธรูปเป็นภาษาสามัญและพื้นเมืองว่า “พระเจ้าตาเขียว” หรือเรียกตามราชาศัพท์ว่า “พระพุทธปฏิมาพระเนตรเขียว” การสร้างพระพุทธรูปนี้เริ่มสร้างเมื่อเดือนขึ้น 8 ค่ำ พ.ศ. 1235 เสร็จสมบูรณ์ เดือนยี่แรม 5 ค่ำ ปีพ.ศ.1235 และเมื่อสร้างองค์พระพุทธรูปบรรจุพระเนตรแก้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงประชุมตกลงกันทำบุญฉลองสมโภชน์พระพุทธรูป โดยนิมนต์พระเถระผู้ทรงคุณวุฒิมาเจริญพระพุทธมนต์ มีพระแม่เจ้าจามเทวี พระเจ้ามหันตยศและพระเจ้าอนันตยศ เป็นประธาน และมีการจุดบ้องไฟขนาดต่างๆ เป็นพุทธบูชาเป็นจำนวนมาก ประมาณได้ 108 กระบอกเมื่อประชาชนต่างคนก็จุดบ้องไฟของตัวเองถวายหมดแล้ว ปรากฏว่ายังเหลือบ้องไฟอีกบ้อง ซึ่งเป็นบ้องไฟใหญ่ที่สุดในจำนวนที่จุดในวันนั้น และเป็นบ้องสุดท้าย ดั้งนั้นประชาชนจึงห้อมล้อมมุงดูกันอย่างเนืองแน่น บ้องไฟนี้ชีปะขาวที่มารับอาสาทำพระพักตร์และเอาแก้วมรกตสีเขียวทึบมาทำพระเนตรองค์พระเป็นผู้จุดเอง เมื่อชนวนบ้องไฟติด ชีปะขาวผู้นั้นจึงกระโดดขึ้นไปอยู่บนหัวบ้องไฟ ในระยะต่อมาชั่วอึดใจประชาชนก็พบความแปลกประหลาด คือ บ้องไฟนั้น ได้พาเอาร่างชีปะขาวผู้นั้นขึ้นไปด้วย สูงขึ้น สูงขึ้น จนหายเข้ากลีบเมฆไปในที่สุด และจึงรู้ว่าเป็นพระอินทร์เนรมิตแปลงร่างลงมาช่วยก่อสร้างพระพุทธรูปจนสำเร็จโดยง่ายดาย เกิดเสียงแซ่ซ้องสาธุการดังอึงคะนึงเนืองแน่นจากประชาชนที่ได้พบเห็น ในระยะต่อมาสถานที่ก่อสร้างพระพุทธรูปเจ้าพระเนตรเขียว จึงได้กลายเป็นวัดขึ้นเรียกว่า “วัดพระเจ้าตาเขียว” ปรากฏว่าเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองมากในสมัยนั้น และเจริญต่อมาเป็นกาลอันยาวนาน สมัยพระเจ้ายีบา บ้านเมืองเกิดศึกสงคราม ผู้คนล้มตายพระพุทธรูปเจ้าตาเขียว จึงขาดการดูแล บ้านเมืองรกร้าง องค์อินทร์ทรงเล็งเห็นจึงได้แปลงลงมาเป็นงูใหญ่เฝ้าบริเวณนี้ไว้ เพื่อคุ้มครองพระพุทธเกศาธาตุและพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ จนกว่าจะมีผู้มีบารมีมาสืบทอดต่อไปอย่างไรก็ตาม ประวัติของวัดได้มีการกล่าวมาถึงช่วงสุดท้ายของเมืองหริภุญไชย ก่อนการปกครองของพญามังรายและเข้ารวมเป็นส่วนหนึ่งของล้านนา โดยประวัติของวัดในส่วนหลังจากนี้ได้ขาดหายไปเป็นเวลาประมาณ 500 กว่าปี และได้เริ่มกล่าวถึงอีกครั้งในช่วงเวลาที่สามารถอ้างอิงหลักฐานบางประการได้ และปรากฏสิ่งก่อสร้างที่เป็นรูปธรรม เช่น รูปเหมือนครูบากึ๋งม้า และกู่บรรจุอัฐิให้สักการบูชาตราบจนปัจจุบัน
ส่งไปให้คนก.ท.ม.แขวนซักเหรียญเน้อ....
คนที่น่ารักน่าชังใช่ไหม พี่พงศ์