...เหรียญนนฺทชโย รุ่นแรก เหรียญนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทเกจิทั่วไปในงานประกวดที่ สันกำแพงครับ...และเป็นอีกเหรียญหนึ่งในหนังสือรวมพระเกจิล้านนา ขอเผยแพร่ประวัติและความเป็นมาให้สมาชิกทุกท่านได้ทราบนะครับเพื่อจะได้ไม่มีความคลาดเคลื่อน...เนื่องจากสืบหาประวัติเหรียญจากผู้รู้ค่อนข้ายากมาก...
...ท่านเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดเปาสาม และเจ้าคณะตำบลออนเหนือในอดีตปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ (เป็นพระเถระร่วมสมัยกับหลวงปู่หล้า วัดป่าตึงและหลวงปู่ครูบาอินตา วัดห้วยไซไต้) โดยรับตำแหน่งเจ้าอาวาสต่อจากเจ้าอธิการแก้ว ธมฺมกิตฺติ เจ้าอาวาสองค์ก่อน และภายหลังท่านมรณภาพแล้วผู้ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเปาสามขารูปต่อมาก็คือท่านพระครูกิตยาภิรักษ์หรือหลวงพ่อกองจันทร์ กิตฺติปาโล ปัจจุบันท่านได้มรณภาพไปแล้วเช่นกัน ซึ่งอดีตเจ้าอาวาสวัดเปาสามขาทั้ง 3 รูป นั้นแม้จะครองวัดต่างกรรมและต่างวาระกัน แต่เหมือนกันอยู่หลายประการได้แก่ เป็นเจ้าอาวาสวัดเปาสามขา โดยบรรพชาอยู่ในวัดนี้มาตั้งแต่เป็นสามเณรกระทั่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุ อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งเจ้าอธิการซึ่งเป็นตำแหน่งในพระสังฆาธิการสมัยนั้นให้ดูแลเป็นเจ้าคณะตำบลเหมือนกันทั้ง 3 รูปและที่น่าสนใจก็คือทั้ง 3 รูปมีนามสกุลตอนเป็นฆราวาสเหมือนกันนั่นคือนามสกุล "นันทชัย"...
...หลวงปู่เขียว นนฺทชโย นั้นสมัยท่านดำรงชีวิตอยู่ท่านมีอุปนิสัยสันโดษ เรียบง่าย สมถะและเป็นพระที่พูดน้อย ไม่ค่อยพูดจาหรือสุงสิงกับใครนอกจากการครองวัตรปฏิบัติตามแบบบรรพชิตทั่วไป เคยเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระเดชพระคุณพระราชปัญญาภรณ์ (สิงห์คำ ชยวํโส ปธ.9)เจ้าอาวาสวัดนางชี ภาษีเจริญ พระอารามหลวง และเป็นพระอนุสาวนาจารย์หรือพระกัมมวาจาจารย์ ไม่แน่ใจนะครับของหลวงปู่ครูบาสิงห์แก้ว อตฺถกาโม วัดปางกอง ด้วย...
...สมัยก่อนพระภิกษุสามเณรหรืออุบาสกอุบาสิกาส่วนใหญ่มักจะเกรงท่านมากเนื่องด้วยว่าท่านเป็นพระที่พูดน้อย แต่เน้นหนักไปทางปฏิบัติเป็นอย่างมาก ทั้งทำวัตรเช้า เย็น การนั่งกัมมัฏฐาน และมักจะสงเคราะห์ญาติโยม พระภิกษุสามเณร ตามเหมาะสมเท่านั้น...หลวงปู่ท่านได้ครองวัดเปาสามขาเรื่อยมาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2515 หลวงปู่ท่านได้ถึงแก่มรณภาพที่วัดเปาสามขานั่นเอง...
...ในด้านวัตถุมงคล หลวงปู่ฯ ท่านไม่สร้างวัตถุมงคลแต่อย่างใด นอกเสียจากญาติโยมหรือลูกศิษย์จะขอให้ท่านทำเสื้อยันต์ , ตะกรุดหรือเขียนยันต์เทียนบูชาเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้นวัสดุที่ใช้ในการทำวัตถุมงคลก็เรียบง่าย อาทิ เสื้อยันต์ก็จะใช้เศษจีวรหรือสบงเก่าของท่านหรือไม่ก็เอาผ้าที่ครองพระประธานที่เก็บในพระอุโบสถวัดเท่านั้น ตะกรุดก็มักจะใช้สังกะสีหรือตะกั่งอังวะ ที่เรียกว่า จืนหน้าแหนบ มาทำพร้อมคล้องด้วยด้ายสายสิญจน์เท่านั้น ซึ่งน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ผมไม่สามารถเสาะหามาเก็บรักษาไว้ได้...
...สำหรับเหรียญรุ่นนี้เป็นเหรียญรุ่นแรกของหลวงปู่เขียว เรียกว่า "เหรียญนนฺทชโย" โดยจัดสร้างขึ้นเนื่องในงานประชุมเพลิงศพหลวงปู่ (สมัยนั้นผมไม่ทราบว่ามีการขอพระทานเพลิงศพหรือไม่) โดยจัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2515 โดยท่านพระครูกิตยาภิรักษ์หรือหลวงปู่กองจันทร์ กิตฺติปาโลเป็นผู้จัดสร้างขึ้น แต่ไม่ทันหลวงปู่นะครับเพียงแต่มีการนำเอาเหรียญทั้งหมดตั้งไว้หน้าหีบบรรจุสรีระร่างของท่านแล้วอธิษฐานของพุทธานุภาพ ภายหลังได้มีการนำเข้าร่วมงานพุทธาภิเษกหลายแหล่งด้วยกัน คาดว่าน่าจะได้เข้าร่วมงานมหาพุทธาภิเษกที่วัดพระธาตุดอยสุเทพด้วย จากนั้นได้นำมาแจกจ่ายสำหรับผู้ร่วมทำบุญในงานประชุมเพลิงศพหลวงปู่ในปี พ.ศ. 2516 ตอนนั้นเท่าที่ทราบสำหรับผู้ร่วมทำบุญ 1 บาทจะได้เหรียญหลวงปู่ 1 เหรียญ แต่ถ้าทำบุญต่ำกว่านั้นอย่าง 50 สตางค์หรือ 75 สตางค์ ก็จะได้พระผงเกศาหลวงปู่ 1 องค์ ครับ...
...ที่อธิบายมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพราะอะไรหรอกครับ แต่มีบางท่านเข้าใจเหรียญรุ่นนี้คาดเคลื่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งแถวๆสันกำแพงหรือแม่ออน เนื่องจากว่าประมาณปี 2534 ทางวัดเปาสามขาได้สร้างเหรียญหลวงปู่เขียว ขึ้นมาอีกรุ่นหนึ่งเป็นเหรียญเต่า สร้างขึ้นมาเป็นที่ระลึกในงานฉลองพระวิหารวัดเปาสามขาน่ะครับ แต่ไม่ได้ระบุรุ่น คนในพื้นที่ส่วนมากคิดว่าเหรียญรุ่นนี้เป็นเหรียญรุ่นแรกของท่านโดยมีหลวงปู่หล้า ตาทิพย์ วัดป่าตึง เป็นประธานพิธีพุทธาภิเษกในตอนนั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อนครับ...
...ที่ผมทราบทั้งหมดไม่ใช่เพราะอะไรหรอกครับ เพียงแต่เป็นเด็กแถวนั้นและเคยได้บวชเรียนอยู่กับหลวงปู่กองจันทร์ กิตฺติปาโล มาหลายปีได้มีโอกาสรับรู้จากการบอกเล่าของหลวงปู่ และจากผู้เฒ่าผู้แก่พ่อน้อยพ่อหนานสมัยนั้น ตอนนี้ท่านเหล่านั้นเสียชีวิตไปเกือบหมดแล้วครับ และเหรียญนี้ได้มาตั้งแต่สมัยยังเป็นสามเณรเมื่อประมาณปี พ.ศ.2537 น่ะครับ...เลยนำเอามาเล่าเผื่อสมาชิกเวปท่านใดไปพบเห็นเข้าควรจะเก็บเอาไว้บูชาน่ะครับ เพราะเป็นเหรียญเก่าที่น่าเก็บเป็นอย่างยิ่ง ประสบการณ์มีมากมายครับในพื้นที่แต่ไม่ค่อยมีใครเขาพูดถึงกันเท่านั้นเองอีกทั้งเป็นเหรียญร่วมสมัยกับเหรียญครูบาวัดสันใต้ หรือแม้แต่เหรียญครูบาศรีวิชัย วัดม่วงม้าใต้ ด้วยจำนวนการสร้างไม่แน่ชัดครับ หลวงปู่กองจันทร์ เคยบอกว่าไปเอาที่โรงงานพิมพ์เหรียญ 2 ครั้งได้มาครั้งละ 1 ประเป๋าใบเล็กๆน่ะครับ คิดว่าไม่น่าจะเกิน 1000 เหรียญด้วยซ้ำ...
...ที่มาลงก็เพราะต้องการเผยแพร่บารมีของท่านเพื่อเป็นการบูชาพระคุณของหลวงปู่ครูบา กองจันทร์ กิตฺติปาโล น่ะครับ... |