สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ
ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จสถิต ณ
วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ เมื่อปี พ.ศ.
2443 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ดำรงพระอิสริยยศ 22 พรรษา
สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2464 พระชนมายุ 62 พรรษา
พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จในพระจอมเกล้า ฯ
และเจ้าจอมมารดาแพ ประสูติ เมื่อปี พ.ศ. 2403 พระนามว่า
พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ เมื่อพระชนมายุได้ 8 พรรษา ทรงเริ่มศึกษาภาษาบาลี
จนสามารถแปลธรรมบทได้ก่อนทรงผนวชเป็นสามเณร
นอกจากนี้ยังทรงศึกษาภาษาอังกฤษ และโหราศาสตร์ อีกด้วย
เมื่อพระชนมายุได้ 14 พรรษา ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรตามราชประเพณี ณ
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหารอยู่ 2
เดือนจึงลาผนวช ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อปี พ.ศ. 2422 แล้วมาประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อทรงผนวชได้ 3 พรรษา
ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมหน้าพระที่นั่ง ทรงแปลได้เป็นเปรียญ 5 ประโยค
จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงสถาปนาพระอิสริยยศ เป็น
กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส และเป็นเจ้าคณะรอง ในธรรมยุติกนิกาย เมื่อปี พ.ศ.
2424 พระองค์ได้ครองวัดบวรนิเวศวิหาร
สืบต่อจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศ ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2434
ได้เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติ เมื่อปี พ.ศ.
2436
ทรงเริ่มพัฒนาการพระศาสนา
โดยเริ่มต้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร ได้แก่ริเริ่มให้ภิกษุสามเณรที่บวชใหม่
เรียนพระธรรมวินัยในภาษาไทย มีการสอบความรู้ด้วยวิธีเขียน
ต่อมาจึงกำหนดให้เป็นหลักสูตรการศึกษาสำหรับคณะสงฆ์ เรียกว่า นักธรรม ทรงจัดตั้ง มหามงกุฎราชวิทยาลัย เป็นการริเริ่มจัดการศึกษาของพระภิกษุ
สามเณรแบบใหม่คือ เรียนพระปริยัติธรรม ประกอบกับวิชาการอื่น
ที่เอื้ออำนวยต่อการสอนพระพุทธศาสนา ผู้ที่สอบได้จะได้เป็นเปรียญเช่นเดียวกับที่สอบได้ในสนามหลวง เรียกว่า
เปรียญมหามงกุฎ แต่ได้เลิกไปในอีก 8 ปีต่อมา ทรงออกนิตยสาร ธรรมจักษุ
ซึ่งเป็นนิตยสารทางพระพุทธศาสนา ฉบับแรกของไทย
ทรงอำนวยการจัดการศึกษาหัวเมืองทั่วราชอาณาจักรเมื่อปี พ.ศ. 2441
ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ
ที่จะขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานไปยังประชาชนทั่วราชอาณาจักร ทรงเห็นว่า
วัดเป็นแหล่งให้การศึกษาแก่คนไทยมาแต่โบราณกาล
เป็นการขยายการศึกษาได้เร็วและทั่วถึง เพราะมีวัดอยู่ทั่วไป
ในพระราชอาณาจักร ไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน
งานนี้มีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยสนับสนุน พระองค์ดำเนินการอยู่ 5 ปี
ก็สามารถขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานคือ ชั้นประถมศึกษา ออกไปได้ทั่วประเทศ
จากนั้นจึงให้กระทรวงธรรมการ ดำเนินการต่อไป
ทรงปรับปรุงการ
ปกครองคณะสงฆ์ เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปด้วยดี
เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาตนเอง และประเทศชาติ จึงเกิด พ.ร.บ.
ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) ขึ้น ซึ่งเป็น
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับแรกของไทย สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้
ได้จัดคณะสงฆ์ออกเป็น 4 คณะ คือ คณะเหนือ คณะใต้ คณะกลาง และคณะธรรมยุติกา
มีสมเด็จพระราชาคณะเป็นเจ้าคณะ และมีพระราชาคณะรอง คณะละหนึ่งรูป รวมเป็น
8 รูป ทั้ง 8 รูปนี้ยกขึ้นเป็น มหาเถรสมาคม เป็นองค์กรสูงสุดของคณะสงฆ์
และเป็นที่ปรึกษาในการพระศาสนา และการคณะสงฆ์ของพระมหากษัตริย์
มีเจ้าคณะปกครองลดหลั่นไปตามลำดับคือ เจ้าคณะมณฑล เจ้าคณะเมือง
เจ้าคณะแขวง และเจ้าอาวาส มีเสนาบดีกระทรวงธรรมการ
เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มหาเถรสมาคมเป็นเพียง ที่ทรงปรึกษา
ขององค์พระมหากษัตริย์ ดังนั้นกระทรวงธรรมการ
จึงต้องทำหน้าที่สังฆราชโดยปริยาย
พระองค์ได้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นกรมหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2449 และเมื่อปี
พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้ง
พระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
ทรงสถาปนากรมหลวงวชิรญาณวโรรส เป็นสมเด็จกรมพระยา
ทรงสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะใหญ่แห่งพระสงฆ์ ทั้งกรุงเทพมหานคร
และหัวเมืองทั่วพระราชอาณาเขต
ในปีต่อมาคือ ปี พ.ศ. 2454
พระองค์ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงเสนาบดีกระทรวงธรรมการ มีความว่า
ควรถวายอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์แก่พระองค์ ในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชให้เด็ดขาด
เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เรียบร้อย หลังจากนั้นอีก 6 เดือน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้ทรงมอบการทั้งปวงซึ่งเป็นกิจธุระพระศาสนา
ถวายแด่พระองค์ผู้เป็นมหาสังฆปรินายก เมื่อปี พ.ศ. 2455
พระองค์ได้ทรงปรับปรุงการพระศาสนา และทางคณะสงฆ์ในด้านต่าง ๆ
เป็นอันมากโดยเริ่มงาน ตั้งแต่เสด็จไปตรวจการคณะสงฆ์ในหัวเมืองต่าง ๆ
เกือบทั่วราชอาณาจักร โดยกระทำอย่างต่อเนื่องทุกปีเกือบ ตลอดพระชนม์ชีพ
ทำให้ทรงทราบความเป็นไปของคณะสงฆ์ และของประชาชนในภูมิภาคต่าง ๆ
เป็นอย่างดี และนำข้อมูลและปัญหาต่าง ๆ มาปรับปรุง แก้ไขในทุก ๆ ด้าน
พอประมวลได้ดังนี้
1. ด้านการพระศาสนา พระองค์ได้พัฒนาภิกษุสามเณร ให้มีความรู้ความสามารถในพระธรรมวินัย
เพื่อจะได้แนะนำสั่งสอนประชาชนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
ทรงผลิตตำราและหนังสือทางพระพุทธศาสนา
ที่คนทั่วไปสามารถอ่านทำความเข้าใจได้ง่าย
2. ด้านการคณะสงฆ์
ทรงออกพระมหาสมณาณัติ ประทานพระวินิจฉัยและทรงวางระเบียบ แบบแผน
เกี่ยวกับความประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรในด้านต่าง ๆ
ให้ถูกต้องเป็นมาตรฐาน เช่น ระเบียบเกี่ยวกับพระอุปัชฌาย์
การบรรพชาอุปสมบท การปกครองภิกษุสามเณรและศิษย์วัด การวินิจฉัยอธิกรณ์
ระเบียบเกี่ยวกับ สมณศักดิ์ พัดยศ นิตยภัต ดวงตราประจำตำแหน่ง เป็นต้น
3. ด้านการศึกษา ทรงปรับปรุงการศึกษาของคณะสงฆ์ให้ทันสมัย
ทรงจัดการศึกษาพระปริยัติ ธรรมเพิ่มขึ้นจากแบบเดิมที่ศึกษาภาษาบาลี
โดยให้ศึกษาพระธรรมวินัยในภาษาไทยเรียกว่า หลักสูตร นักธรรม
4. งานพระนิพนธ์ พระองค์ทรงรอบรู้ภาษาต่าง ๆ หลายภาษา คือ ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส ได้ทรงนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ
ไว้เป็นอันมาก เช่น หนังสือหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี โท เอก หลักสูตรบาลี
ไวยากรณ์ทั้งชุด รวมพระนิพนธ์ทั้งหมดมีมากกว่า 200 เรื่อง
นอกจากนี้ยังทรงชำระ คัมภีร์บาลีไว้กว่า 20 คัมภีร์
มีเหตุการณ์สำคัญในสมัยของพระองค์ประการหนึ่ง คือ ตั้งแต่โบราณมา
ตำแหน่งพระประมุขแห่งสังฆมณฑล ที่เรียกว่า สมเด็จพระสังฆราชนั้น ไม่เคยมีพระราชวงศ์องค์ใดที่ทรงผนวชอยู่ได้รับสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งนี้
เพิ่งจะเริ่มมีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ
ซึ่งไม่ได้เรียกว่าสมเด็จพระสังฆราช แต่เรียกพระนามตามพระอิสริยยศ
ในฝ่ายพระบรมราชวงศ์ ล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ
ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำหน้าพระนาม เป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า เหรียญนี้สร้างขึ้นในปี 2463 คราวฉลองอายุครบ 60 พรรษา แต่นำมาแจกในปี 2464
|