พระนางพญา นอกจากค้นพบที่วัดนางพญาแล้ว พระนางพญาถูกค้นพบต่อมาอีกหลายกรุ แต่ก็เป็นพระพิมพ์เดียวกันกับพระที่พบที่วัดนางพญาทุกอย่าง และเนื้อพระก็เนื้อเดียวกัน อาจจะแตกต่างกันก็เพียงภูมิประเทศที่ค้นพบ เช่น กรุบางสะแกหรือ ที่เรียกว่ากรุน้ำ พบบริเวณพื้นที่ตำบลบางสะแก ริมฝั่งของแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันตกของพิษณุโลก มักเรียกกันว่ากรุเหนือ พบประมาณปี พ.ศ.2497 พบพระนางพญาบรรจุอยู่ในหม้อดินฝังในดินจำนวน 3 ใบ พบพระมากกว่า 1,000 องค์ ที่พบพระนั้นมักจะมีน้ำท่วมขัง พระจึงเสียผิวและมีเม็ดแร่กรวดทรายปรากฏอยู่เรียกกันว่า "แร่ลอย"
กรุวังหน้าพบที่พระอุโบสถวัดพระแก้ววังหน้า ข้างโรงละครแห่งชาติ (ปัจจุบันเป็นวิทยาลัยนาฏศิลป์) โดยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ได้จากเจ้าเมืองพิษณุโลก จึงทรงบรรจุไว้ในพระอุโบสถ ขณะที่กำลังบูรณะพระอุโบสถพบพระที่บริเวณใต้ฐานชุกชี พระที่พบเนื้อแห้งสนิทและลงรักปิดทองทุกองค์ สภาพของรักแห้งและร่อนออกง่าย พบจำนวนไม่มาก ต่อมามีผู้ค้นพบพระนางพญาที่วัดเลียบ (ราชบูรณะ) ในกรุงเทพฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะโดนระเบิดโจมตีโรงไฟฟ้าวัดเลียบจำนวนไม่มาก เป็นพระลงรักปิดทอง อีกครั้งพบที่วัดสังข์กระจาย ฝั่งธนบุรีที่กำลังรื้อพระเจดีย์ครั้งนี้ได้พระที่แห้งสนิท แต่ไม่ลงรักปิดทองจำนวนไม่มากนัก |